ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาคดี คนพิการฟ้องกทม.เกี่ยวกับการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกบนสถานีรถไฟฟ้า BTS โดยให้มีการติดตั้งลิฟท์ และจัดทำอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก บนสถานีรถไฟฟ้า BTS ทุกสถานี

ประเภทข่าว: 
ข่าว พก.
ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาคดี
คนพิการฟ้องกทม.เกี่ยวกับการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกบนสถานีรถไฟฟ้า BTS
โดยให้มีการติดตั้งลิฟท์ และจัดทำอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก
บนสถานีรถไฟฟ้า BTS ทุกสถานี
ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๓๐ น. กรณีนาย       สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ พิการขาขาดทั้งสองข้าง นางสาวเสาวลักษณ์ ทองก๊วย และนายพิเชฎฐ์ รักตะบุตร     พิการขาใช้การไม่ได้ โดยผู้ฟ้องคดีฟ้อง กรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔  กรณีการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) ซึ่งเป็นการเดินรถไฟฟ้าระบบรางที่มีตัวชานชลาสถานีและรางสูงจากพื้นถนนประมาณ ๕-๗ เมตร โดยไม่ได้มีการก่อสร้างลิฟท์และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการไม่ว่าจะเป็นอักษรวิ่งและเสียงบอกชื่อสถานีหรือสิ่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยก่อสร้างเพียง  ๕ สถานี ยังขาดอีก ๑๘ สถานี ทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นคนพิการไม่ได้รับความสะดวกและจำเป็นต้องอาศัยการช่วยเหลือจากประชาชนโดยทั่วไปในการใช้บริการ  ทั้งนี้ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด สรุป ได้ ดังนี้
       ๑. ให้กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารสถานีขนส่งมวลชนที่จะต้องปฏิบัติ ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๔๒) ออกตามมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.๒๕๔๓ และระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการว่าด้วยมาตรฐานอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ พ.ศ.๒๕๔๔  (เนื่องจากพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. ๒๕๓๔ ไม่มีบทเฉพาะกาลกำหนดให้ ให้ไม่ให้บังคับกับอาคาร สถานที่ ยานพาหนะหรือบริการสาธารณะอื่นที่มีอยู่ก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ) โดยการแก้ไขปรับปรุงลักษณะอาคารสถานีรถไฟฟ้า ลักษณะยานพาหนะที่ต้องมีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ ตามรายละเอียดของอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงและระเบียบดังกล่าว 
       ๒. ให้กรุงเทพมหานคร ดำเนินการจัดทำลิฟท์ที่สถานีขนส่ง ซึ่งมีการดำเนินการไปแล้วจำนวน ๕ สถานี และอีก ๑๘ สถานียังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก  รวมถึงจัดทำอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกที่สถานีขนส่ง    และจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้า คือ ให้จัดที่ว่างสำหรับเก้าอี้เข็นคนพิการให้มีความกว้างไม่น้อยกว่า ๑๒๐ ซม. และให้มีราวจับสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า ๘๐ ซม. บริเวณทางขึ้นลง และติดสัญลักษณ์คนพิการไว้ทั้งในและนอกตัวรถคันที่จัดไว้สำหรับคนพิการ รวมทั้งหมด ๒๓ สถานี ตาม โดยให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน    หนึ่งปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษา โดยให้บริษัท BTS ให้ความร่วมมือให้เป็นไปตามคำพิพากษาดังกล่าว
       ผลของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ได้วางหลักการปฏิบัติราชการที่สำคัญต่อกิจการของทางราชการในการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ดังต่อไปนี้
       (๑) คำฟ้องเกี่ยวกับการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้เป็นประโยชน์ต่อคนพิการและผู้สูงอายุโดยรวมศาลสามารถรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้แม้จะเลยกำหนดเก้าสิบวันตามกฎหมายที่ฟ้องคดีควรรู้หรือได้รู้แล้ว และคนพิการใดๆ ที่อยู่ในหลักเกณฑ์ว่าด้วยคนพิการตามประกาศพม.มีอำนาจฟ้อง ปัจุบันใช้ประกาศปี ๒๕๕๔
       (๒) เมื่อพระราชบัญญัติฟื้นฟูฯ พ.ศ. ๒๕๓๔ และปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ มิได้ไม่มีบทเฉพาะกาลกำหนดให้ ให้ไม่ให้บังคับกับอาคาร สถานที่ ยานพาหนะหรือบริการสาธารณะอื่นที่มีอยู่ก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (กฎกระทรวงฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๔๒) เป็นผลให้เจ้าของอาคารสาธารณะ(เปิดให้ประชาชนเข้าไปได้)  ได้แก่ อาคารของสถานสงเคราะห์คนพิการหรือคนชรา สถานศึกษาสำหรับคนพิการ โรงพยาบาล โรงแรมหอประชุม สถานศึกษา สถานีขนส่งมวลชน และอาคารในลักษณะอื่นใดตามที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารกำหนด ต้องต้องปฏิบัติ ให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าว โดยการแก้ไขปรับปรุงลักษณะอาคารสถานีรถไฟฟ้า ลักษณะยานพาหนะที่ต้องมีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ ตามรายละเอียดของอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงและระเบียบดังกล่าว  แสดงให้เห็นว่าทั้งอาคารเก่าและอาคารใหม่ต้องจัดสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งสิ้นตราบใดที่ยังใช้เป็นอาคารสาธารณะนั้นอยู่โดยปรับปรุงให้เป็นไปตามกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้นกำหนด(เดิมจะพิจารณาอาคารตามกฎกระทรวง พ.ศ. ๒๕๔๘ ตามกฎหมายควบคุมอาคารฯ เป็นหลัก) จะอ้างว่าเป็นอาคารเก่าสร้างมานานแล้วไม่ได้เพราะกฎหมายมีสภาพบังคับทุกอาคารแล้ว
       (๓) ผลของคำพิพากษา จะทำให้คนพิการมีการตื่นตัวทำการตรวจสอบติดตามทวงถามการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในทุกอาคารสาธารณะมากขึ้น หากเพิกเฉยจะเป็นผลให้นำข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลมากขึ้นเพราะศาลได้วางหลักการตีความแบบกว้างเพื่อประโยชนของประชาชนเป็นส่วนรวมไว้แล้ว ไม่สามารถอ้างหลักกฎหมายว่าไม่มีผลย้อนหลังไม่ได้
            รายละเอียดคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ตามเอกสารแนบมา 
ภาพประกอบ: 
รูปคนพิการรวมตัวกันเพื่อฟังคำพิพากษาฯ